ในช่วงของระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่กำลังเป็นที่น่าเป็นห่วงอยู่ตอนนี้ อาจทำให้หลายคนลืมเรื่องฝุ่นไปก่อน แล้วใส่ใจกับการใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันละอองน้ำลายที่มาจากการไอ จาม จากผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามากกว่าจะสวมหน้ากาก N95 เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5
แต่หน้ากากอนามัยที่เริ่มจะขาดแคลน อาจสามารถใช้เป็นหน้ากากผ้าที่สามารถซักแล้วใช้ซ้ำได้เช่นกัน
หน้ากากผ้า ลดโรค ลดขยะ
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า คนทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วย แนะนำว่า ควรใช้หน้ากากผ้าธรรมดา เพื่อป้องกันน้ำลายกระเด็นเป็นหลัก เหมือนอย่างสมัยตอนไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็มีการทำหน้ากากผ้ากันเอง หรือทำหน้ากากผ้าแบบแฟชั่น ซึ่งก็สามารถนำมาสวมใส่ป้องกันได้สำหรับคนปกติทั่วไป ถือว่าเพียงพอ ที่สำคัญสามารถนำมาซักและใช้ซ้ำได้ ก็จะยิ่งช่วยประหยัดเงินและค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย ช่วยลดขยะได้อีกทางหนึ่ง เพราะหน้ากากอนามัยธรรมดา หากทุกคนใช้แล้วทิ้งวันละชิ้นทุกวันน่าจะมีขยะเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าสิบล้านชิ้น
สุขภาพดี – หน้ากากผ้า
ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ – หน้ากากอนามัยสีเขียวฟ้า-ขาว
ผู้ป่วยทางเดินหายใจ แนะนำว่า ให้ใช้หน้ากากอนามัยธรรมดา ที่มีขายทั่วไปที่จะเห็นว่าด้านหนึ่งมีสีเขียวหรือสีฟ้า อีกด้านเป็นสีขาว โดยการสวมใส่จะต้องเอาด้านสีขาวหรือด้านในเข้าหาใบหน้า เพราะด้านในจะดูดซีบน้ำ ทำให้ช่วยซับน้ำมูกน้ำลาย โดยมีลักษณะผิวนุ่มกว่า และบานพับจีบของหน้ากากจะเป็นแบบหงายขึ้น ก็จะเก็บละอองน้ำมูกน้ำลายได้ดี ส่วนด้านนอกคือด้านสีเขียวหรือสีฟ้า จะมีการเคลือบสารลดการซึม เวลามีน้ำมูกน้ำลายกระเด็นมาก็จะไม่ซึมและร่วงตกลงมาได้ ส่วนการสวมใส่ก็ให้คล้องสายเข้ากับใบหูทั้งสองข้าง กดแถบลวดให้แนบสนิทกับใบหน้า และดึงหน้ากากอนามัยส่วนล่างให้คลุมใต้คาง
หน้ากากผ้า ใช้อย่างถูกต้อง ให้ผลดีเท่ากับหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง
ถ้าใช้หน้ากากผ้าก็จะคุ้มค่าและสะดวก ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อระหว่างหน้ากากผ้า และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ในคนที่ยังไม่ป่วยก็เหมือนกัน ซึ่งปกติน้ำมูกน้ำลายคนปกติจะไม่เยอะอะไร คนป่วยแล้วใช้หน้ากากอนามัยจะเหมาะสมน้ำมูกน้ำลายเยอะ จะป้องกันการซึมได้ดี ใครที่ยังไม่ป่วยจึงสามารถใช้หน้ากากผ้าได้
ส่วนหน้ากาก N95 จะเหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะดูแลรักษาผู้ป่วย มีโอกาสพบผู้ป่วยมีเชื้อเยอะ ต้องใช้แบบคุณภาพสูงสุด ประชาชนทั่วไปไม่ได้ไปรักษาดูแล ก็จำเป็นน้อยลงมา เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก เพราะหากทุกคนหันมาใช้ก็จะไม่เพียงพอในระยะยาว
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :พ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ภาพ :iStock